ผ่าตัดเสริมอัณฑะ

การผ่าตัดเสริมอัณฑะหรือการใส่อัณฑะเทียมเป็นการผ่าตัดเพื่อใส่ลูกอัณฑะเทียม (TESTICULAR IMPLANT) เข้าไปในถุงอัณฑะ เป็นการผ่าตัดสำหรับผู้ที่มีปัญหาไม่มีลูกอัณฑะ1 ข้างหรือไม่มีทั้ง 2 ข้าง โดยอาจมีสาเหตุตั้งแต่กำเนิดหรืออาจมีความจำเป็นต้องตัดลูกอัณฑะออกภายหลัง การที่มีอัณฑะข้างเดียวมีผลต่อจิตใจทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ทำให้เกิดความ กังวล และอับอายว่าตนเองมีความผิดปกติต่างจากผู้อื่นทำให้เป็นปมด้อยในเด็กบาง คน การผ่าตัดใส่อัณฑะเทียมช่วยให้ผู้ที่มีปัญหามีความมั่นใจในตนเองมาก ขึ้น ลดความกังวลและช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจหลังการถูกตัดอัณฑะ

การผ่าตัดใส่ลูกอัณฑะเทียมมีการทำกันมาเป็นเวลามากกว่า 50 ปีแล้วทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยมากและมีปัญหาหลังการผ่าตัดน้อย การผ่าตัดทำในกรณีต่างๆ ที่ทำให้ต้องตัดลูกอัณฑะทิ้งไปหรือในกรณีอื่นๆ ดังนี้

  1. ลูกอัณฑะไม่เลื่อนลงมาในถุงอัณฑะ ต้องตัดเพราะป้องกันการเกิดมะเร็ง
  2. ภาวะขั้วของถุงอัณฑะบิดแล้วทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงอัณฑะทำให้ต้องตัดอัณฑะทิ้งไป
  3. ไม่มีลูกอัณฑะตั้งแต่กำเนิด
  4. อุบัติเหตุทำให้ต้องตัดลูกอัณฑะ
  5. มะเร็งต่อมลูกหมากหรือลูกอัณฑะทำให้ต้องตัดลูกอัณฑะทิ้งไป
  6. การอักเสบของลูกอัณฑะอย่างรุนแรงจะต้องตัดออก
  7. คนที่เป็นกระเทยแท้แล้วต้องการเปลี่ยนอวัยวะเพศให้เป็นชาย
  8. ผู้หญิงที่ต้องการเปลี่ยนเพศเป็นเพศชาย

นอกจากกรณี ดังกล่าวแล้วการผ่าตัดเสริมอัณฑะ สามารถทำในคนที่อัณฑะมีขนาดเล็กผิดปกติแต่ยังมีการผลิตฮอร์โมนได้ตามปกติ การผ่าตัดทำโดยวางถุงอัณฑะเทียมด้านหน้า ต่ออัณฑะเดิมทีมีขนาดเล็ก โดยไม่ผ่าตัดเอาอัณฑะเดิมออกหลังการผ่าตัดก็จะได้ถุงอัณฑะที่มีลูกอัณฑะ ชัดเจนโดยที่ลูกอัณฑะจริงอยู่ด้านหลัง ซึ่งลูกอัณฑะจริงก็ยังสามารถผลิตอสุจิ และฮอร์โมนตามปกติโดยทั่วไป จะไม่แนะนำให้ผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออก ยกเว้นกรณีที่มีข้อบ่งชี้จากการแพทย์ การผ่าตัดเสริมลูกอัณฑะไม่แนะนำในคนที่มีขนาดลูกอัณฑะปกติ

ชนิดของถุงอัณฑะเทียม

ถุงอัณฑะเทียมมีการผลิตทั้งชนิดซิลิโคนแท่งที่นิ่มมากและชนิดที่เป็นถุง ซิลิโคนที่มีการบรรจุสารภายในลักษณะเช่นเดียวกับถุงเต้านมเทียมแต่มีรูปร่าง และขนาดแตกต่างกันโดยถุงจะออกแบบมาเป็นผิวเรียบอย่างเดียวในปัจจุบันประเทศ ไทยมีการนำเข้าเฉพาะถุงซิลิโคนรูปวงรีโดยจะมีความ
แตกต่างของชนิดดังนี้

  1. สารที่บรรจุในถุง มี 2 แบบ คือ ถุงน้ำเกลือและถุงเจล
  2. ขนาดของถุง ถุงจะมีรูปร่างเหมือนอัณฑะธรรมชาติแต่จะมีขนาดแตก ต่างกัน ประมาณ 4 ขนาดคือ เล็กมาก , เล็ก , กลาง , ใหญ่ ขนาดจะมีความแตกต่างกันแล้วแต่บริษัทผู้ผลิต การเลือกขนาดของถุงคงต้องเลือกขนาดให้ใกล้เคียงกับอัณฑะอีกข้างหนึ่งเพื่อ ให้มีรูปร่างและขนาดเป็นธรรมชาติ หรือในกรณีที่ต้องการเพิ่มขนาดอัณฑะ อาจเลือกขนาดตามความต้องการเป็นรายๆไป

การใส่ถุงอัณฑะเทียมอาจเกิดพังพืดหดรัดได้เช่นเดียวกับถุงเต้านมเทียมการ เกิดพังพืดรัดมีผลให้มีความรู้สึกเจ็บและตึงแต่อย่างไรก็ตามการเกิดพังพืดหด รัดในถุงอัณฑะมีน้อยมากแตกต่างจากถุงเต้านมเทียม ในคนที่วางแผนว่าจะมีบุตรอีกนานอาจต้องฝากสเปิร์ม ในธนาคาร สเปิร์ม กรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ , แผลแยก ,การมีเลือดคั่งหรือการเลื่อนของถุงอัณฑะอาจเกิดขึ้นได้

ข้อห้ามของการผ่าตัด

  1. มีการติดเชื้อบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
  2. ยังไม่สิ้นสุดการรักษามะเร็ง

การปรึกษาก่อนผ่าตัด

  1. สุขภาพร่างกายไม่สามารถผ่าตัดใหญ่ได้
  2. ก่อนการผ่าตัดควรปรึกษาแพทย์เพื่อ
    – เลือกชนิดของถุงว่าใช้น้ำเกลือหรือถุงเจล
    – เลือกขนาดโดยจะต้องตรวจร่างกายและวัดถุงอัณฑะอีกข้าง
    – เทคนิคการผ่าตัดว่าจะเปิดแผลอย่างไรบางครั้งถ้ามีแผลเป็นเดิมอยู่แล้วก็มักเลือกผ่าตัดผ่านแผลเดิม
  3. เจาะเลือดตรวจร่างกายรวมทั้งตรวจปัสสาวะ
  4. การผ่าตัดควรทำในช่วงที่มีสุขภาพแข็งแรงถ้าเป็นหวัดหรือเป็นไข้ควรเลื่อนผ่าตัดไปก่อน
  5. การผ่าตัดอาจทำได้ทั้งดมยาสลบและการฉีดยาชาโดยทั่วไปแนะนำให้ดมยาสลบ เพราะสะดวกสบายกว่าอย่างไรก็ตามในเด็กควรทำผ่าตัดโดยการดมยาสลบเท่านั้น
  6. ในผู้ที่ต้องตัดอัณฑะจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากควรปรึกษาศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะก่อนว่าโรคที่เป็นรักษาหายแล้วหรือไม่
  7. การผ่าตัดใส่ลูกอัณฑะเทียมเป็นการผ่าตัดใส่สิ่งแปลกปลอมในร่างกายดังนั้นอาจมีปัญหาที่ต้องแก้ไขเมื่อใดก็ได้

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด

  1. ถ้าดมยาสลบให้งดน้ำงดอาหาร 6 – 8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
  2. เตรียมโกนขนอวัยวะเพศมาจากบ้านถ้าไม่ได้โกนขนมาจากบ้านอาจมาโกนที่โรงพยาบาลก็ได้
  3. สวมใส่กางเกงหลวมๆ ในวันที่มาผ่าตัดกางเกงในควรเตรียมที่หลวมๆ เช่นกัน
  4. ก่อนมาผ่าตัดอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด
  5. งดยาแก้ปวดกลุ่มแอสไพริน 10 วันก่อนผ่าตัด
  6. งดการสูบบุหรี่ 1 อาทิตย์ก่อนผ่าตัด
  7. ถ้ามีโรคประจำตัวเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนผ่าตัดว่าได้หรือไม่
  8. เตรียมตัวหยุดงานประมาณ 5 วันหรือในเด็กเล็กควรเลือกผ่าตัดในช่วงปิดเทอม

ขั้นตอนการผ่าตัด

การผ่าตัดใส่ลูกอัณฑะเทียมเป็นการผ่าตัดที่ไม่ยุ่งยากอาจทำผ่าตัด แล้วกลับบ้านได้เลยหรือพักที่โรงพยาบาลประมาณ 1 คืน ขึ้นกับวิธีการใช้ยาระงับความรู้สึกถ้าดมยาสลบต้องนอนพักที่โรงพยาบาล 1 คืน

  1. หลังจากฉีดยาชาหรือดมยาสลบแล้วแพทย์จะทำความสะอาดโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ
  2. เปิดแผลที่ผิวหนังของถุงอัณฑะ ถ้าไม่มีแผลเป็นมาก่อนจะเปิดแผลบริเวณด้านบนจะเป็นแผลที่ดูแลหลังผ่าตัดง่ายกว่าด้านล่าง
  3. สร้างช่องว่างในถุงอัณฑะสำหรับใส่ลูกอัณฑะเทียม
  4. ถ้ามีเลือดออกมากอาจต้องใส่สายระบายน้ำเหลือง
  5. เย็บปิดแผลโดยอาจเลือกใช้ไหมละลาย
  6. การผ่าตัดใช้เวลา 30 – 40 นาที
  7. หลังผ่าตัดจะใส่ผ้ายืดหรือพลาสเตอร์และผ้าพันแผลเพื่อยกถุงอัณฑะไว้ไม่ให้ตกลงเพื่อลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด

การดูแลหลังการผ่าตัด

  1. จะรู้สึกตึงๆและปวดแผลประมาณ 24 – 48 ชั่วโมงอาการปวดมักเป็นไม่มากสามารถลดอาการปวดโดยใช้ยาแก้ปวดชนิดทานก็เพียงพอ
  2. หลังผ่าตัดจะมีพลาสเตอร์หรือผ้ารัดถุงอัณฑะซึ่งต้องใส่ไว้ประมาณ 3 – 4วันหรือในบางรายอาจต้องใส่ไว้ประมาณ 1 อาทิตย์โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆไป
  3. อาการบวมและปวดที่ถุงอัณฑะจะมีประมาณ 2 – 3 อาทิตย์
  4. โดยทั่วๆไปสามารถปัสสาวะได้ตามปกติ
  5. โดยทั่วไปมักใช้ไหมละลายไม่ต้องตัดไหมออกแต่ในบางรายถ้าเย็บด้วยไหมชนิดไม่ละลายจะตัดไหมประมาณ 7 – 14 วัน
  6. มาตรวจตามที่แพทย์นัด โดยทั่วไปจะนัดตรวจในวันที่ 3 หรือ 7 วันหลังผ่าตัด
  7. แผลสามารถถูกน้ำได้หลังผาตัดประมาณ 1 อาทิตย์

หมายเหตุ

  • 7 – 10 วันสามารถออกกำลังกายเบาๆหรือทำกิจวัตรประจำวันได้สะดวก
  • ควรรอจนครบ1 เดือนจึงออกกำลังกายชนิดรุนแรงได้
  • ควรรอให้แผลหายดีก่อนการร่วมเพศโดยทั่วไปควรรอ 3 – 4 อาทิตย์หลังการผ่าตัดและในช่วงแรกอาจต้องใช้ท่าพิเศษที่ไม่กระทบกระเทือนต่อ แผลผ่าตัดของเพศชาย
  • หลังการร่วมเพศถ้ามีปัญหาปวดมากหรือมีเลือดออกมากควรปรึกษาแพทย์ผ่าตัดโดยทันที
  • ถ้ามีปัญหาปวด แดง บวม อักเสบหรือถุงอัณฑะบวมใหญ่กว่าขนาดปกติมากๆ ควรปรึกษาแพทย์โดยทันที

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัด

การใส่ลูกอัณฑะเทียมเป็นการรักษาที่ต้องผ่าตัดดังนั้นหลังผ่าตัดอาจพบปัญหาได้แต่โดยทั่วไปอาการข้างเคียงจากการผ่าตัดพบได้น้อยมาก

  1. เลือดออกโดยทั่วไปถ้าเลือดออกเล็กน้อยสามารถหายได้เองแต่ถ้าเลือดออกมากอาจต้องดูดออก
  2. การติดเชื้อของแผลผ่าตัดพบได้ประมาณ 1% เหมือนกับผ่าตัดบริเวณอื่นๆ
  3. ภาวะแคลเซียมเกาะที่รอบถุงอัณฑะเทียมพบในกรณีที่ผ่าตัดไปนานมากๆ โดยทั่วไปต้องแยกจากมะเร็งของอัณฑะ
  4. การรั่วซึมของถุงอัณฑะเทียมมักเกิดกับถุงน้ำเกลือโดยอาจเกิดจากการที่เล่นกีฬารุนแรง, การนวดที่รุนแรงหรือการถูกทำร้ายร่างกาย
  5. การมีน้ำเหลืองคั่งเกิดได้น้อยกว่า 1%
  6. การทะลุของถุงอัณฑะเทียมเกิดจากการที่ผิวหนังตึงเกินไปโดยอาจเลือกขนาดลูกอัณฑะใหญ่เกินไป
  7. การเลื่อนตำแหน่งของถุงอัณฑะเกิดได้ประมาณ 2%
  8. การชาที่ส่วนล่างของถุงอัณฑะเกิดได้ประมาณ 1%
  9. ในเด็กเล็กที่ใส่ถุงอัณฑะขนาดเล็กเมื่อเด็กโตขึ้นอาจต้องเปลี่ยนขนาดของถุงให้ใหญ่ขึ้น

ผลการผ่าตัด

การใส่ถุงอัณฑะเทียมเป็นการผ่าตัดวิธีเดียวในปัจจุบันที่ช่วยให้มีลูก อัณฑะเป็นธรรมชาติและดูดีเหมือนกับลูกอัณฑะอีกข้างหนึ่งมากที่สุด ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีอื่นที่ได้ผลดีเท่าการใช้ลูกอัณฑะเทียม โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่จะพอใจในผลการผ่าตัดและมีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตคู่ และมีความมั่นใจมากขึ้นในการมีเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งแรกๆ ช่วยลดปมด้อยในเด็กเล็กที่อาจถูกล้อเลียนโดยเพื่อนร่วมชั้นที่รู้ แม้ว่าจะเป็นส่วนที่มองไม่เห็นจากภายนอกแต่การใส่ลูกอัณฑะเทียมก็ช่วยให้ เด็กมั่นใจและสามารถใช้ชีวิตในชั้นเรียนได้อย่างมีความสุขมากขึ้น